ผู้สมัครงาน
แรงบันดาลใจ จากสูตร “เฉาก๊วยดอนเมือง” สู่สูตรสำเร็จ “เฉาก๊วยชากังราว”
ดร.เสริมวุฒิ สุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฉาก๊วยชากังราว จำกัด ซึ่งเป็นผู้ปั้นแบรนด์เฉาก๊วย “ชากังราว” และผลิตเฉาก๊วยแปรรูปจนประสบความสำเร็จ เล่าถึงความเป็นมาของเฉาก๊วยชากังราว ด้วยน้ำเสียงแห่งความภาคภูมิใจว่า เฉาก๊วย “ชากังราว” ประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ ต้องขอบคุณเฉาก๊วย “ดอนเมือง” ที่ทำให้มีเฉาก๊วย “ชากังราว” เกิดขึ้น เพราะมีการพัฒนาสูตรเฉาก๊วยมาจากเฉาก๊วยดอนเมือง ในสมัยที่ลูกชายไปทำงานกับโรงงานเฉาก๊วยดอนเมือง เมื่อ 15 ปีที่แล้ว
“เฉาก๊วยดอนเมือง เป็นสะพานให้เราได้เดิน ตอนนั้นผมทำงานอยู่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ลูกผมจบ ปวส. ใหม่ๆ ลูกผมได้มีโอกาสรู้จักกับเจ้าของ เขาก็มาชวนลูกผมไปทำงานที่โรงงาน ในสมัยนั้นเงินเดือนค่อนข้างเยอะ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ได้เดือนละ 5,000 บาท ก็บอกลูกว่า ขอให้ตั้งใจทำงาน และให้ช่วยทุกหน้าที่ที่โรงงานมีอยู่ ตั้งแต่ล้างห้องน้ำ ล้างต้นเฉาก๊วย กวนเฉาก๊วย เพื่อที่วันหนึ่งลูกทำงานชำนาญแล้ว จะสามารถนำมาประกอบอาชีพได้ ลูกไปอยู่ได้ 2-3 เดือนกว่าๆ กลับมาก็ถามว่า ทำได้ไหม เขาก็บอกว่าทำได้ ก็ลองทำให้พ่อดู ใช้เฉาก๊วยยี่ห้ออะไร เขาบอกว่าตราไก่น่ะพ่อ จริงๆ แล้วชื่อยี่ห้อ ต้าไถ่ เสร็จแล้วก็ทำได้ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ช่วงแรกๆ เหนียวบ้างไม่เหนียวบ้าง เราก็นึกในใจ เฉาก๊วยมันทำยาก” ดร.เสริมวุฒิ ย้อนอดีตจุดเริ่มต้นเฉาก๊วยชากังราว ที่ไม่ได้โปรยด้วยกลีบกุหลาบ กว่าจะหาสูตรได้ลงตัวต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นาน จนกระทั่งวันหนึ่งได้ไปอ่านข้อมูลที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเฉาก๊วยให้อร่อย
“มีคนรู้จักกับเรา เป็นแม่ค้าอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร ได้เอาวารสารที่พิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์มาให้ ซึ่งเป็นของชมรมเทคโนโลยีทางอาหารและชีวภาพ ของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับเรื่องของเฉาก๊วย เราก็รู้การทำเฉาก๊วยมันไม่ธรรมดา เพราะมีสารในตัวมันมากมายหลายอย่าง ที่โดดเด่นก็คือ เจลาติน ตัวเหนียวต้องมีในนั้น ผมก็เริ่มเรียนรู้จาก 2 อย่างคือ เริ่มเรียนรู้สูตรทำเฉาก๊วยจากลูกชายซึ่งได้ไปทำงานอยู่กับโรงงานเฉาก๊วยดอนเมือง และจากการทดลองทำโดยอ่านจากวารสาร”
จากการเริ่มต้นเดินทีละก้าว ทำให้ดร.เสริมวุฒิพบกับสูตรเฉาก๊วยที่ลงตัว และเป็นที่มาของสูตรสำเร็จของเฉาก๊วย “ชากังราว”
“พอทำปุ๊บ มันเจอเลย มันค้นเจอความจริงในตัวของเฉาก๊วย ตอนแรกที่ทำก็เละๆ เหนียวๆ บ้าง มันหาจุดลงตัวไม่ได้ แต่พอเรามาอ่านวารสารมันเจอจุดที่ลงตัว และมันใช่เลย มันต้องรสชาติอย่างนี้ ก็เลยไปทดลองทำตามวารสาร เริ่มเป็นที่มาของเฉาก๊วยชากังราว ตอนนั้นผมทำงานอยู่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดกำแพงเพชร เป็นพนักงานขับรถ มีหน้าที่ขับรถมานาน 21 ปี ตอนนั้นก็ลองทำเอาไปให้คนที่ทำงานชิมก่อน ให้ครู ให้อาจารย์กินกัน เอ๊ะ! อร่อยน่ะ เราก็เอ๊ะ เขายอเราหรือเปล่า กี่ครั้งๆ เขาก็บอกเฉาก๊วยของเราอร่อย แรกๆ ก็เริ่มทำน้อยๆ วันหนึ่งขายเฉาก๊วยได้ไม่ถึง 50 บาท”
จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้คนรู้จักเฉาก๊วยชากังราวนั้น มาจากแนวคิดที่ว่า นำต้นเฉาก๊วยจริงไปสาธิตวิธีการทำเฉาก๊วยในงานเทศกาลต่างๆ ของจังหวัดกำแพงเพชร
“เฉาก๊วย คนรู้จักทั้งประเทศ แต่ไม่มีใครรู้ที่มาที่ไปของเฉาก๊วย นี่เป็นแนวคิดของผม ผมก็เลยเริ่มเอาต้นเฉาก๊วยมาเคี่ยวขายในงานเทศกาลของจังหวัดกำแพงเพชร เช่น งานปีใหม่ งานพบพระ งานกล้วยไข่ เวลาคนมาเดินงานก็ได้กลิ่น เพราะใบเฉาก๊วยเวลานำมาเคี่ยวกับความร้อนมันหอมมาก ใครเดินผ่านมาดูแล้วก็ถาม คนก็เริ่มกินมากขึ้น รู้จักมากขึ้น จนผมเป็นคนแรกๆ ของประเทศไทยก็ว่าได้ ที่เอาต้นเฉาก๊วยมาเคี่ยวให้ดู ตอนนั้นผมก็เอาต้นเฉาก๊วยมาจากเวียดนามและอินโดนีเซียมาเคี่ยวให้ดู” ดร.เสริมวุฒิ เล่าอย่างอารมณ์ดี
หลังจากนั้น เฉาก๊วยของดร.เสริมวุฒิก็เป็นที่รู้จักและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มียอดขายจากวันละไม่ถึง 50 บาท เป็น 5,000-6,000 บาท จนกระทั่งมียอดขายเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน และขยับขึ้นหลักล้านในที่สุด
“ชากังราว” ชื่อนี้ได้จากศาลหลักเมือง
เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์สำหรับดร.เสริมวุฒิ เจ้าของแบรนด์ “ชากังราว” เปิดใจกับนิตยสาร “เส้นทางเศรษฐี” อย่างอารมณ์ดีถึงที่มาของแบรนด์ “ชากังราว” วันหนึ่งขณะขับรถผ่านศาลหลักเมืองจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองกล้วยไข่ และดร.เสริมวุฒิก็ให้ความเคารพสักการะเป็นอย่างมากนั้น มีบางอย่างแว้บเข้ามาว่าจะต้องใช้ชื่อเฉาก๊วย “ชากังราว” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมืองกำแพงเพชรในประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า “นครชากังราว”
“เดิมทีผมนึกไม่ออก จะตั้งชื่ออะไรดี มีอยู่วันหนึ่ง ผมขับรถผ่านศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เหมือนกับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเข้ามาดลใจว่า เฉาก๊วยชากังราว (หัวเราะ) ผมก็รีบยกมือไหว้เจ้าพ่อ เพราะผมนับถือเจ้าพ่อหลักเมืองด้วย และชากังราวเป็นชื่อเก่าของจังหวัดกำแพงเพชร ประมาณปี 2545 ก็จดชื่อ ชากังราว และยังเริ่มขายแบบมัดถุง ไม่ใช่หน้าตาถุงแบบทุกวันนี้ หลังจากผ่านศาลเจ้าพ่อ ปี 2546 ก็ติดแบรนด์ชากังราว ขายได้เดือนละ 3,000-4,000 บาท เราก็ดีใจแล้ว เยอะแล้ว ผมก็จะเก็บเงิน ค่อยๆ ซื้ออุปกรณ์ ต่อเล็ก ต่อน้อยไปเรื่อยๆ”
ปัจจุบันภายใต้สินค้าแบรนด์ “ชากังราว” ดร.เสริมวุฒิยังมีสินค้าชาเฉาก๊วย ซึ่งใช้ชงดื่มเป็นชาเพื่อสุขภาพ ขายหน้าโรงงานที่จังหวัดกำแพงเพชร กล่องละ 35 บาท
“เตี่ยผมเคยพูดว่า เฉาก๊วยช่วยขับของเสียในร่างกายออก พอเรามาอ่านข้อมูลจากชมรมเทคโนโลยีทางอาหารและชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางประเทศจีนเรียกว่า หญ้าเทวดา มันมีประโยชน์มากมาย เช่น แก้ร้อนใน แก้ไข้หวัด ลดความดันโลหิตสูง ตับอักเสบ ข้ออักเสบ ต่อต้านอนุมูลอิสระ และทำให้เลือดลมดี ซึ่งผมจะดื่มประจำ เวลาไปต่างประเทศ ผมจะเอาชาเฉาก๊วยติดไปด้วย บางคนซื้อทีเป็นร้อยๆ กล่อง ผมขายที่โรงงานกล่องละ 35 บาท บางคนไปขายกล่องละ 60 บาท”
จากวิธีขาย “เฉาก๊วยชากังราวไหมครับ!!!” สู่เป้าผลิตไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นถุงต่อวัน
“เฉาก๊วยไหมครับ เฉาก๊วยชากังราวครับ เฉาก๊วยแท้” เสียงเรียกลูกค้าของดร.เสริมวุฒิเมื่อราว 13-14 ปีที่แล้ว ในสมัยที่เริ่มต้นขายเฉาก๊วยใหม่ๆ และติดยี่ห้อ “ชากังราว” มัดใส่ถุงพลาสติกและผูกหนังยาง พร้อมกับต้นเฉาก๊วยจริงๆ ใส่รถเข็นไปท้ายรถกระบะเก่าๆ ไปขายด้วยตัวเอง โดยเดินทางไปขายตามจังหวัดใกล้เคียงจังหวัดกำแพงเพชร อย่างเช่น จังหวัดตาก, สุโขทัย, พิจิตร และนครสวรรค์
ดร.เสริมวุฒิ เล่าว่า ช่วงที่ขายแรกๆ นั้น ใช้ประโยคว่า “เฉาก๊วยชากังราวไหมครับ” พร้อมกับใช้วิธีการอธิบายด้วยการนำต้นเฉาก๊วยมาให้ดู เรียกความสนใจจากลูกค้าได้ไม่น้อย
“ผมมีวิธีขาย เช่น คนยืนกินเยอะๆ คอยรถ กำลังคุยกัน ผมก็เข้าไปใกล้ๆ ไปชักชวนให้คนมากินเฉาก๊วยก่อน ไปเช็ดรถ ถูรถกระบะอยู่แถวนั้น เสร็จแล้วผมก็ประชาสัมพันธ์ เฉาก๊วยชากังราวครับ เฉาก๊วยแท้ครับ ใครไม่เคยเห็นต้นเฉาก๊วย เราก็แนะนำให้เขาดู ก็มีเด็กผู้หญิงมาถาม ลุงขายดีไหม เราก็บอก พอขายได้ลูก เราก็คุยกับเขา หนูเคยกินเฉาก๊วยแท้ไหม เด็กผู้หญิงคนนั้นก็บอกเคยกิน เราก็บอก เฉาก๊วยของลุงจะเป็นเฉาก๊วยแท้ๆ น่ะลูก เหนียวนุ่ม จากนั้นเด็กก็ลองกิน บางแห่งซื้อคนเดียว แต่คนที่อยู่ในกลุ่มกินหมดเลย ก็เลยต้องมาซื้อกลับบ้าน”
ส่วนวิธีการขายในช่วงเริ่มแรกนั้น แม้จะเริ่มจากยอดขายไม่กี่สิบบาท แต่ดร.เสริมวุฒิ บอกว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เฉาก๊วยชากังราวเดินต่อไปได้ และประสบความสำเร็จอย่างเช่นทุกวันนี้
ดร.เสริมวุฒิ เล่าให้ฟังถึงวิธีการขายในช่วงแรกว่า นำเฉาก๊วยไปขายตามหน่วยงานราชการ และใช้คำถามเหมือนเดิมคือ “เฉาก๊วยไหมครับ เฉาก๊วยไหมครับ” เขาก็สั่นหัวไม่มีใครเอา แต่ในตอนนั้น ดร.เสริมวุฒิก็ไม่ท้อ และมีวิธีการที่ได้ลูกค้ามาเป็นขาประจำเสียด้วย
“ผมก็คิดว่า จะไปขายหน่วยงานราชการ ต้องไปขายตอนปลายๆ เดือน ตอนที่เขาไม่มีตังค์ วันที่ 25-26 ตอนนั้นก็ขายดี ถามน้องๆ ข้าราชการว่า กินเฉาก๊วยไหม สิ้นเดือนพี่เก็บตังค์ พูดดังๆ ทุกคนก็เอาหมด สั่งกัน 5 ถุง 10 ถุง เมื่อก่อนขายถุงละ 4 บาท 10 ถุง เป็นเงิน 40 บาท ปรากฏว่าขายดีมาก ขายจนหมด เราก็ภูมิใจตอนที่เราไปเก็บตังค์ ทุกคนก็ถามกันใหญ่ว่ามีเฉาก๊วยติดมาไหม มีติดมาไหม”
วิธีการขายของดร.เสริมวุฒิ นอกจากจะได้ยอดขายแล้ว ยังได้ใจลูกค้าด้วย เพราะเปรียบเสมือนยามข้าราชการตกทุกข์ได้ยาก โดยเฉพาะช่วงปลายเดือน ดร.เสริมวุฒิเห็นใจและเข้าใจ นำเฉาก๊วยไปขายให้ จนในที่สุดยังมียอดขายเพิ่มในช่วงที่ข้าราชการเงินเดือนออก
แผนการตลาดแบบง่ายๆ และเป็นกันเอง เหมาะกับวิถีของคนไทย ทำให้เฉาก๊วยชากังราว มียอดขายเพิ่มขึ้น จากวันละไม่กี่สิบบาท ขายวันละไม่กี่ถุง มาสู่ยอดขายเดือนละหลายล้านบาท และวันนี้เฉาก๊วยชากังราว มีโรงงานที่พร้อมรองรับยอดการผลิตได้ถึง 70,000 ถุงต่อวัน และ 2 ล้านกว่าถุงต่อเดือน บนพื้นที่โรงงานที่ทำเฉาก๊วยจริงๆ ประมาณ 3 ไร่
หัวใจสู่เศรษฐีเงินล้าน!!! ตัวอย่างธุรกิจ SMEs ไทย
ความน่าสนใจของเฉาก๊วย “ชากังราว” นอกจากแบรนด์สินค้าที่นำมาจากประวัติศาสตร์ของจังหวัดกำแพงเพชรแล้ว ดร.เสริมวุฒิ บอกว่า คุณภาพของเฉาก๊วยและรสชาตินั้นโดดเด่นกว่าเฉาก๊วยทั่วไปคือ มีรสชาติเหนียวนุ่ม และเน้นความสะอาด ปลอดภัย ถูกหลักอนามัย
“ผมมองอย่างนี้ว่า ความซื่อสัตย์เป็นเรื่องสำคัญมาก ความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ต้องเอาใจลูกค้ามาใส่ใจเรา ลูกค้าอยากได้ของดีๆ เพราะฉะนั้น เราต้องมีความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค ทั้งเรื่องรสชาติ ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค อย่างโรงงานผมมีคนไปดูงานเยอะมาก มีคนไปดูงาน 200 กว่าคน บางวัน 500 กว่าคน ผมก็ดีใจมากๆ ผมคิดว่า คนมา 200 กว่าคน มันจะกระจายเป็นพันคน เป็นหมื่นคน เป็นแสนคน คนมาก็จะกระจายออกไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การนำเสนอ ชี้แจง แล้วพาเขาเดินดูว่า โรงงานเฉาก๊วยชากังราวทำสะอาดจริง ตั้งแต่คัดต้นเฉาก๊วย พาดูความสะอาดในโรงงาน เมื่อลูกค้าดูแล้ว 1 ราย เขาก็จะไปบอกต่อ เพราะฉะนั้น การขายก็จะเริ่มมากขึ้นๆ ยิ่งคนมาดูโรงงานเฉาก๊วยเรามากเท่าไหร่ ยอดการผลิตก็มากขึ้น เด็กนักเรียนก็มากขึ้น ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมปลาย และนักศึกษามหาวิทยาลัยก็มาดู” ดร.เสริมวุฒิ เล่าถึงจุดแข็งของสินค้าที่ทำให้มียอดขายและยอดการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากความสำเร็จบนเส้นทางธุรกิจแล้ว เฉาก๊วยชากังราวยังสร้างความสำเร็จด้านอื่นๆ ให้กับดร.เสริมวุฒิอีกด้วย โดยเฉพาะการได้รับปริญญาโทและปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ในฐานะที่ดร.เสริมวุฒิเป็นเจ้าของไอเดียประดิษฐ์เครื่องล้างเฉาก๊วย ที่พัฒนาจากเครื่องล้างจาน นับเป็นนวัตกรรมการประดิษฐ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดกำแพงเพชร
การก้าวย่างบนเส้นทางธุรกิจนั้น ดร.เสริมวุฒิ ทิ้งท้ายว่า จะต้องมีความซื่อสัตย์ ขยัน และอดทน ซึ่งถือว่าเป็นเคล็ดลับของมนุษย์ รวมทั้งยังต้องรู้จักการใช้จ่าย และความรับผิดชอบต่างๆ ต้องมีอยู่ในตัว รวมไปถึงการตอบแทนสังคม ถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเอสเอ็มอีไทย ในการต่อสู้ ฟันฝ่าอุปสรรคในสนามธุรกิจ จนประสบความสำเร็จในที่สุด
นอกจากนี้ ดร.เสริมวุฒิยินดีรับทุกหน่วยงานที่สนใจจะเข้าเยี่ยมชมโรงงานเฉาก๊วย “ชากังราว” ที่จังหวัดกำแพงเพชร แต่ดร.เสริมวุฒิ บอกว่า ต้องแจ้งล่วงหน้าก่อน เพราะจะได้เตรียมเฉาก๊วยชากังราวไว้ต้อนรับ พร้อมบรรยากาศที่อบอุ่น ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่ บริษัท เฉาก๊วยชากังราว จำกัด โทรศัพท์ (055) 854-821 โทรศัพท์มือถือ (086) 932-1316 และ (083) 143-2980 ที่อยู่ เลขที่ 141/3 หมู่ 6 ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ www.sentangsedtee.com
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved