ผู้สมัครงาน
เด็กจบใหม่ ลดอีโก้หน่อยจ้า
โปรไฟล์ดี แต่อีโก้สูง ก็ตกงานได้นะ
อีโก้ (EGO) คือ ตัวตนที่สร้างขึ้นจากความเชื่อที่มาจากความเป็นเรา อาทิ รูปร่าง หน้าตา หรือความสำเร็จที่เคยได้รับ
คนที่สร้างตัวตนในระดับสูงกว่าสิ่งที่เป็นตัวเอง (อีโก้สูง) เช่น สำเร็จการศึกษาวุฒิป.ตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากสถาบันชั้นนำ แล้วมั่นใจว่าเก่งเทียบเท่าคนจบป.โท ไปที่ไหนใครก็ต้องรับเข้าทำงาน จึงพูดโอ้อวดเกินจริง เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองเก่ง มีความสามารถที่เหนือกว่าเด็กป.ตรีทั่วไป และจะไม่พอใจ หากมีใครมาขัดแย้งความคิดของเขา เช่น ถ้าบอกว่ามีเด็กป.ตรีคนนึงเก่งเหมือนเขา หรือมีความสามารถมากกว่า เขาก็จะสร้างเหตุผลมาอ้างให้ตัวเองดูเหนือกว่าให้ได้ เพราะทำใจยอมรับไม่ได้ และตัวเขาเองก็ทุกข์ด้วย
แบบนี้ HR ก็ต้องมองถึงอนาคตแล้วว่า การทำงานร่วมกับคนอื่นจะเป็นเรื่องยากมากที่เขาจะทำได้ ขณะเดียวกันก็จะทำให้คนอื่นไม่มีความสุขในการทำงานไปด้วย และปัญหาอีกหลายอย่างต้องตามมาอีกแน่นอน
ไม่มีใครอยากรับเข้ามาหรอกครับ
ส่วนการสร้างตัวตนในระดับปานกลาง (เป็นระดับที่ดีที่สุด) คือ มั่นใจในความเป็นตัวเอง ไม่จำเป็นต้องพยายามแสดงออกให้เหนือกว่าสิ่งที่เป็นอยู่จริง เพราะเชื่อว่าตนก็มีดีในแบบที่เป็น เช่น มีวุฒิป.ตรี ก็เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถที่จะทำงานได้ เพียงแค่รับฟังว่าองค์กรต้องการให้ทำอะไร แล้วก็ตั้งใจทำให้เป็นไปตามที่รับฟังมา แต่ถ้ามันเกินความสามารถ ก็จะยอมรับได้ แต่ก็ยังมั่นใจว่าตนมีความสามารถที่พร้อมจะเรียนรู้เพิ่มเติมและพัฒนาได้
คนแบบนี้ ไปที่ไหนใครก็อยากรับเข้าทำงานครับ
แต่การสร้างตัวตนในระตับต่ำ ก็จะเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองเลยสักอย่าง แม้จะมีความสามารถอยู่มาก แต่มักจะคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ ไม่กล้าลอง ไม่กล้าทำ ทำให้ไม่ได้ฝึกการคิดวิเคราะห์อะไรเลย เพราะมัวแต่คิดว่าทำไม่ได้ กลัวเกิดความผิดพลาด
คนแบบนี้จะไม่ได้พัฒนาตัวเอง และไม่สามารถพัฒนาอะไรให้องค์กรได้ ที่สำคัญคงไม่มีองค์กรไหนอยากได้เข้ามาทำงานหรอก จะจ้างมาให้เสียเงิน เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ทำไม จริงไหม ?
อย่างไรแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด คือ การรับฟังคนอื่น แม้จะมีอีโก้ระดับไหนก็ตาม เราจะเข้าใจอะไรมากขึ้น เข้าใจว่าโลกต้องการอะไร องค์กรนี้ต้องการอะไร แล้วจะสามารถสื่อสารในสิ่งที่ตอบโจทย์องค์กรได้
ตั้งแต่การเขียนเรซูเม่ ก็ต้องดูว่าองค์กรต้องการคนมาทำหน้าที่อะไร ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร จากนั้นก็กลับมาดูว่าเรามีจุดเด่นอะไรที่สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรบ้าง แล้วก็เขียนลงไป
ไม่ใช่มองแค่ว่า “ ฉันมีวุฒิป.ตรี เลยนะ จบเกรดสูงด้วย ก็ใส่แค่นี้ ยังไงเขาก็ต้องรับเข้าทำงาน ”
ถ้ายังไม่เคยเปิดใจรับฟังใคร อย่าคิดไปเองว่า สิ่งที่คิด สิ่งที่ทำ มันดีที่สุดแล้ว
อ่านบทความ การเขียนจุดเด่นลงในเรซูเม่ >> https://www.jobbkk.com/variety/detail/5540/
ต่อมา ในวันสัมภาษณ์งาน ก็ต้องฟัง ว่า HR ถามอะไร วิเคราะห์ให้ดีว่า เขาอยากได้คำตอบแบบไหน
เช่น ไปสัมภาษณ์งานตำแหน่ง Call Center
HR ถาม... คิดว่างาน Call Center ขององค์กรนี้ ต้องทำอะไรบ้าง ?
คำตอบก็ต้องประกอบไปด้วย การกล่าวถึงพื้นฐานของงานในตำแหน่ง Call Center ซึ่งก็คือ การบริการข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าขององค์กรนั้น สมมติเป็นเครือข่ายโทรศัพท์ ก็ต้องรู้ด้วยว่า โดยหลักๆ สินค้าที่ต้องบริการข้อมูลคืออะไร เช่น แพ็กเกจการโทร การใช้อินเทอร์เน็ต หรือแพ็กเกจเสริมต่างๆ (ซึ่งต้องศึกษาล่วงหน้ามาเป็นอย่างดี) และนอกจากบริการข้อมูล ยังรวมถึงการรับเรื่อง การแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุดด้วย
แต่ถ้าไม่ฟัง ไม่วิเคราะห์คำถาม บางคนอาจตอบแค่ว่า...
Call Center ก็ทำเกี่ยวกับ การบริการข้อมูลให้กับลูกค้า
ก็จะแสดงว่า เราไม่ได้ใส่ใจที่จะรู้จักเพื่อทำงานกับองค์กร ซึ่งแปลว่า ไม่ได้จริงใจกับองค์กรเลย และยังไม่เปิดใจที่จะรับรู้ว่างานขององค์กรที่แท้จริงคืออะไร ซึ่งสิ่งที่ตอบนี้ ก็เป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของคำตอบทั้งหมดเท่านั้น
ก็เหมือนตอนเรียนที่มีการสอบแหละครับ ถ้าไม่ตั้งใจเรียน ไม่อ่านหนังสือ เพราะมั่นใจว่ายังไงก็สอบได้ ก็อาจเขียนคำตอบที่ถูกไปเพียงส่วนหนึ่ง คะแนนที่ออกมาก็ได้เพียงน้อยนิด สุดท้ายก็สอบไม่ผ่าน
ประโยชน์ที่จะได้จากการเปิดใจรับฟังคนอื่น
คนอีโก้สูง : จะยอมรับความจริงได้มากขึ้น ความเครียด ความทุกข์จะค่อยๆหายไป สามารถทำงานเป็นทีมได้ (ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ทุกองค์กรต้องการ) และยังสามารถพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น ยิ่งถ้าเก่งอยู่แล้ว ก็จะยิ่งเก่งมากขึ้นไปอีก
คนอีโก้ปานกลาง : จะสามารถทำงานที่ท้าทายได้มากขึ้น มีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา จะเป็นคนที่มีความรู้รอบด้านและเก่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
คนอีโก้ต่ำ : จะมีความมั่นใจ มีทักษะการคิดวิเคราะห์มากขึ้น กล้าลองผิดลองถูก มีความปรารถนาที่จะพัฒนาตัวเองให้เก่งมากขึ้น
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved